top of page

ประสบการณ์ขอหนังสือใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

Writer's picture: Nutth HiddenSpaceNutth HiddenSpace

สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาวโฮสทุกท่าน หลังจากที่ได้รับเอกสารใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม(โฮมสเตย์)มาสดๆ ร้อนๆ เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ขั้นตอนการขอ การตรวจต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ที่กำลังทำหรือตัดสินใจจะทำได้มีข้อมูลมากขึ้นครับ

เอกสารใบรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
เอกสารใบรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

ก่อนอื่นผมและครอบครัวขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายทะเบียนโรงแรม กรมการปกครองอำเภอเมืองเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จาก อบต. สุเทพ ที่ได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดีและดำเนินเรื่องให้จนเสร็จเรียบร้อย


อนึ่งเนื้อหาในบทความนี้ได้ถูกเขียนขึ้นมาตอนปี พ.ศ.2563 แต่ ณ ปัจจุบันทางกรมการปกครองได้มีการปรับปรุงข้อกฏหมาย ผมจึงขอเขียนอธิบายสิ่งเปลี่ยนแปลงไว้ที่ตรงด้านล่างนี้ ส่วนในเนื้อหาด้านล่างจะเป็นของเดิมที่ผมได้เขียนไว้ครับ กฎกระทรวงฉบับปรับปรุง https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140A052N0000000001200.pdf รายละเอียดส่วนใหญ่จะเหมือนเดิม โดยสรุปรายละเอียดที่ต่างไปจากของเก่า คือ

1. เพิ่มเป็นสถานที่สามารถมีได้ 8 ห้องพัก และรับแขกได้สูงสุด 30 คน

2. ไม่ได้ระบุเรื่องสถานที่พักนั้นต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย แต่ในทางปฏิบัติคือยังไม่ให้คอนโด หรือหมู่บ้านจัดสรรเหมือนเดิม

3. เปลี่ยนแบบฟอร์มการขอเป็น https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/11188.pdf


ที่พักของเราถือว่าเป็นโรงแรมหรือไม่ ?

พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 อธิบายไว้ว่าการเปิดห้องพักที่มีการจัดเก็บค่าบริการแม้เพียง 1 ห้อง แต่หากเราเก็บรายได้เป็นรายวัน,รายสัปดาห์หรือนานเท่าไรก็ตามที่ไม่ถึง 1 เดือน ถือว่าเราประกอบธุรกิจโรงแรม โดยทางรัฐได้ยกเว้นไว้ 3 แบบ

  1. สถานที่พักซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการ

  2. สถานที่พักที่คิดค่าบริการเป็นรายเดือนขึ้นไป เช่น การให้เช่าคอนโดแล้วคิดเป็นรายเดือน เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ เป็นต้น

  3. สถานที่พักอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ( ณ ตอนนี้มี 1 แบบ ) ซึ่งจะเป็นไปตามกฏเพิ้มเติมประเภทที่พักของปี พ.ศ.2551 หรือที่เรามักจะเรียกติดปากว่า"ใบอนุญาตโฮมสเตย์"

กฎเกณฑ์หลักๆ ของที่พักที่เข้าเกณฑ์ไม่เป็นโรงแรม ?

ในกฏหมายเขียนไว้เท่านี้ แต่ในทางปฏืบัติมีข้อบังคับเพิ้มเติม
เรามักจะเข้าใจผิดคิดว่าข้อกำหนดมีแค่ไม่เกิน 4 ห้อง แขกไม่เกิน 20 คนและแจ้งนายทะเบียน
คำอธิบายเพิ้มเติมจากเจ้าหน้าที่พนักงานว่าทำไมคอนโดหรือบ้านในหมู่บ้านจัดสรรถึงแจ้งไม่ผ่าน

1. เป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกัน หรือ หลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมด ไม่เกิน 20 คน โดยนับจากห้องนอนที่ให้บริการเท่านั้น (เพื่อความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ทางกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือเวียนแจ้งทุกจังหวัดแล้ว) หากเรามีห้องเกินแล้วห้องนั้นเราไว้ใช้พักอาศัยเองเราก็แจ้งเจ้าหน้าที่ในวันตรวจได้ครับ

2. จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม เราต้องแสดงหลักฐานว่าเรามีอาชีพหลักอาชีอื่น ในการยื่นเอกสารเราจำเป็นต้องมีใบรับรองการทำงานจากบริษัทเอกชน (เหมือนที่เอาไว้ขอวีซ่า) เอกสารการจ่ายภาษีหรือหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ โดยผู้ให้การรับรองต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ให้การรับรองจะต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการ พร้อมลงนามรับรองสำเนาด้วย (*ข้าราชการบำนาญไม่สามารถเป็นผู้รับรองได้)

3. ได้แจ้งต่อนายทะเบียนโรงแรมประจำจังหวัด

4. สถานที่พักนั้นต้องสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย นั้นคือเหตุผลว่าแม้เราจะถูกต้องข้อ 1-2-3 แต่ถ้าที่พักของเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโด จะไม่สามารถขอใบรับรองได้หรือถึงแม้จะไปยื่นเจ้าหน้าที่ก็จะปฏิเสธการรับแจ้ง ส่วนพูลวิลล่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจจะไม่รับแจ้ง ( ต้องยื่นเป็น รร ประเภท 1 แทน ) *** หมายเหตุ ณ ปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงกฏข้อ 1) และ 4)


สำหรับความเข้าใจโดยละเอียดดูเจ้าหน้าที่อธิบายได้นาทีที่ 2:04:00 ครับ


ใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร ทำให้ที่พักของเราถูกกฎหมายใช่หรือไม่ ?

สำหรับหนังสือที่เราได้รับเป็นเพียงเอกสารหลักฐานว่าเราได้แจ้งต่อนายทะเบียนประจำจังหวัดแล้วว่าเราจะขอให้บริการที่พักรายวันและได้รับการยกเว้นเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม หากเรารับแขกเกิน 20 คนหรือมีห้องพักเกินจากที่แจ้ง เราจะมีความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต


ระยะเวลาในการดำเนินการขอใบรับแจ้ง ?

คำอธิบายในหัวข้อนี้มาจากประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งน่าจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีการขอเอกสารมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับของผมหลังจากยื่นเอกสารไปใช้เวลาอีกราวสองปีถึงจะมีการนัดมาตรวจที่พัก หลังจากตรวจเมื่อเราส่งเอกสารครบใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนก็ได้รับเอกสารครับ ( นายทะเบียนประจำอำเภอจะยื่นเรื่องไปให้ทางจังหวัดภายใน 40 วัน เราสามารถโทรติดตามได้ ) เพราะฉะนั้นสำหรับท่านใดที่คิดจะทำ สมควรใช้เวลาช่วงนี้ลงมือทำได้เลยครับ เพราะอย่างน้อยในขณะที่เราไม่ได้มีใบรับแจ้ง แต่ก็ถือว่าเราได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบแล้ว


เอกสารสำหรับการไปจดแจ้งหรือยื่นขอแบบหนังสือรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่น ณ สํานักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (งานโรงแรม วังไชยา) ส่วนต่างจังหวัด ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ

1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

2. สำเนาทะเบียนบ้าน

3. แบบหนังสือแจ้งขอใบรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 download ได้ที่นี้

4. หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร ในกรณีที่เราเช่ามาทำกิจการต้องมีหนังสือแสดงความยินยอมให้ใช้อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตประกอบกิจการพาณิชย์ในกรณีที่อาคารหรือสถานที่นั้นเป็นของผู้อื่น

5. โฉนดที่ดินหรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

6. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่

7. แบบแปลนภายในอาคาร จะใช้การวาดมือก็ได้ ตัวผมใช้โปรแกรม Magic Plan ( iOS/Android ) ซึ่งทำให้เราใช้โทรศัพท์ในการวัดขนาดห้องได้เลย รวมถึงเขาจะมีเฟอร์นิเจอร์ให้เราเอาไว้ใส่ประกอบ ณ ปัจจุบันโปรแกรมนี้เก็บค่าบริการเป็นรายเดือน

8. เอกสารไซส์ A4 ที่ใส่ภาพถ่ายห้องต่างๆ ของบ้าน, ทางเข้า, ห้องพักแต่ละห้อง และห้องอื่นๆ เช่น ห้องครัว

9. ใบรับรองการทำงานจากบริษัท หรือ หนังสือรับรองการประกอบอาชีพ

10. รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป


คุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับแบบหนังสือแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

1. มีสัญชาติไทย

2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย

4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

5. ไม่เป็นบุคคลคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

6. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

7. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

8. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต

9. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตาม (6) แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

ตัวอย่างแปลนบ้าน
ตัวอย่างแปลนบ้านด้วยโปรแกรม Magic Plan
ติดตั้งป้ายห้องต่างๆตามคำแนะนำ แต่ก็หารูปแบบให้เข้ากับสถานที่

การตรวจที่พัก เจ้าหน้าที่จะโทรมานัดก่อน โดยจะเข้ามาตรวจพร้อมกันทั้งหมดมี 3 ฝ่าย คือ กรมการปกครองส่วนจังหวัด, อบต. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทั้งหมดจะมาแนะนำการปรับปรุงบ้าน/ที่พักหลักๆ ที่ควรมี ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที โดยเราพาเดินทัวร์ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพครับ ผมขอรวบรวมสิ่งที่เราควรจะเพิ่มจากบ้านพักแบบปกติ

1. ป้ายชื่อโฮมสเตย์ (และเราต้องเสียค่าภาษีป้ายให้เขตด้วยนะครับ ขั้นต่ำ 200 บาทต่อปี)

2. กล้องวงจรปิดภายนอกอาคาร (หลังจากติดตั้งแล้ว ในเว็บ Airbnb เราต้องแจ้งให้แขกทราบด้วยว่าเรามีกล้อง CCTV นะครับ)

3. ป้ายเลขห้องและป้ายห้องอื่นๆ ที่ชัดเจน เช่น ห้องครัว, ห้องพนักงาน

4. ถังดับเพลิง 1 ชั้นต่อ 1 ถัง หากมีห้องเยอะเจ้าหน้าที่อาจจะพิจารณาขอเพิ่มเราก็ติดเพิ่ม

5. ไฟฉุกเฉิน ให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจแจ้งตำแหน่งที่ควรติดตั้งก็ได้ครับ

หลังจากที่เราปรับปรุงเพิ่มเติมแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะให้เราส่งภาพถ่ายการแก้ไขไปให้ จากนั้นเขาจะดำเนินการยื่นเอกสารไปที่จังหวัด เพื่อรอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเซ็นท์ให้ ในขั้นตอนนี้สถานที่ของท่านอาจจะผ่านการพิจารณาแล้ว (แต่ยังไม่ได้หนังสือรับรอง) โดยเราสามารถตรวจสอบได้เองที่เว็บ DOPA จะเห็นรายชื่อและหมายเลขที่พักของเรา ข้อดีข้อแรกที่ผมได้ คือ เราสามารถนำที่พักของเราเข้าร่วมโครงการ #เราเที่ยวด้วยกัน ได้ครับ...เพื่อนๆท่านไหนแวะมาพักเที่ยวเชียงใหม่ ยินดีต้อนรับนะครับ :-)


หลังจากนั้น...รอโทรศัพท์หรือเจ้าหน้าที่ แต่นแต้น...! และแล้วฝันก็เป็นจริง…! เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ไปรับหนังสือครับ เราจะได้เอกสารลงตราประทับพร้อมภาพถ่ายตัวเราโดย 1 คนสามารถทำได้แค่ 1 ใบและ 1 สถานที่นะครับ ผมเองก็นำมาใส่กรอบได้เลยประดับไว้ในห้องรับแขก


ใบรับรองนี้ทำให้ Airbnb ถูกกฏหมาย ?

Airbnb, Agoda Home นั้นเป็นเพียง OTA การถูกหรือผิดกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับประเภทที่พักของเราเองครับ ความเห็นส่วนตัวของผมถ้าที่พักของเราเข้าเกฆฑ์ "เราควรทำให้ถูกต้อง" เพราะในกรณีประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ทางรัฐบาลร้องขอ Airbnb ให้ทุก list ที่เปิดบริการจำต้องต้องมีเอกสารรับรองจากรัฐบาลท้องถิ่น (Minpaku Law) ที่พักไหนที่ไม่มีใบอนุญาต ทางเว็บก็ได้ปิดไม่ให้จองทำให้ listing หายไปเกินกว่า80% ซึ่งในอนาคตทิศทางของ Short-term Rental รวมถึงประเทศไทยของเราก็น่าจะเป็นแบบนี้


เราเที่ยวด้วยกัน
ที่พักของเรา ในเว็บไซด์ เราเที่ยวด้วยกัน.com
ระบบงานโรงแรม > ตรวจสอบใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
ระบบงานโรงแรม > ตรวจสอบใบรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

3 ความคิดเห็น


Waranyaporn Athikornboonyaras
Waranyaporn Athikornboonyaras
11 minutes ago

ขอบคุณมากๆนะคะ

พอดีพึ่งเริ่มทำ เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ

ถูกใจ

Talinee Phuanphan
Talinee Phuanphan
11 ม.ค.

ขอปรึกษา

เรื่องขอจดทะเบียนที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมหน่อยค่ะ


ถูกใจ

Tawee Phaorat
Tawee Phaorat
26 พ.ย. 2567

อยากทราบการเสียภาษี หน่อยว่าต้องเสียอะไรบ้าง?

ถูกใจ
bottom of page